article

SME D Bank ออกมาตรการดูแลลูกค้าฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ พักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือน เติมทุนดอกเบี้ยถูก ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
12 ม.ค. 2564
icon 796

SME D Bank ช่วยต่อเนื่อง ออกมาตรการ “พักหนี้อุ่นใจ เติมเงินใหม่ไปต่อ” ดูแลเอสเอ็มอีไทย ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ ให้สิทธิลูกค้าเดิมพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือน พร้อมเติมเงินเสริมสภาพคล่อง ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แจงพิจารณาแนวทางช่วยเหลือตามผลกระทบหนักเบาของลูกค้าแต่ละราย แนะแจ้งความประสงค์ผ่านออนไลน์ สะดวก และปลอดภัย

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ภายในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ยอดขายลดลง ชะลอยอดสั่งซื้อ จำนวนผู้ใช้บริการลดลง เป็นต้น  SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมเคียงข้างดูแลลูกค้าธนาคาร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  จึงออกชุดมาตรการ “พักหนี้อุ่นใจ เติมเงินใหม่ไปต่อ” โดยแนวทางช่วยเหลือขึ้นอยู่กับผลกระทบหนักเบาของลูกค้าแต่ละราย  เป้าหมายเพื่อช่วยประคับประคองธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เดินต่อไปได้ จนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ

สำหรับมาตรการ “พักหนี้อุ่นใจ เติมเงินใหม่ไปต่อ” ประกอบด้วย 1. มาตรการพักชำระหนี้เงินต้น    ลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ขอพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือน  ไม่เกิน 31 ธันวาคม 2564  โดยพิจารณาแนวทางช่วยเหลือตามผลกระทบของลูกค้าแต่ละราย

ทั้งนี้  นับตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา  SME D Bank  ได้ส่งเจ้าหน้าที่สาขา SME D Bank ติดต่อสอบถาม และตรวจเยี่ยมกิจการลูกค้าทั่วประเทศ  เพื่อสำรวจผลกระทบ และแนะนำเข้าสู่มาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ สอบถาม และสำรวจผลกระทบ เพื่อกำหนดแนวทางช่วยเหลือแก่ลูกค้าทั่วประเทศอีกครั้ง โดยเฉพาะใน 28 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อจะช่วยเหลือลูกค้าได้รวดเร็วทันท่วงที 

  1. มาตรการเติมเงินใหม่ มุ่งเสริมสภาพคล่อง ผ่านโครงการสินเชื่อพิเศษ เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ไฮไลท์สำคัญ คือ “สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash” ครอบคลุมทุกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปีใน 2 ปีแรก ระยะผ่อนชำระนานสูงสุด 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อให้นำไปใช้เสริมสภาพคล่อง และ/หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้

นอกจากนั้น ยังมีสินเชื่อต่างๆ เช่น “สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน”   อัตราดอกเบี้ย นิติบุคคล  2.875%ต่อปี นาน 3 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท และบุคคลธรรมดา 4.875%ต่อปี นาน 3 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาท  ผ่อนนานสูงสุด  7 ปี    “สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง SME D Happy”  อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.25% วงเงินกู้ บุคคลธรรมดา สูงสุด 5 ล้านบาท นิติบุคคล สูงสุด 15 ล้านบาท และ “สินเชื่อ SMART SMEs”      เปิดโอกาสรับผู้ประกอบการ Refinance จากสถาบันการเงินเดิม  ช่วยลดต้นทุนธุรกิจ  คิดอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปีในปีแรก วงเงินกู้สูงสุดถึง 15 ล้านบาท  เป็นต้น

ลูกค้า SME D Bank และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป สามารถแจ้งความประสงค์เข้ารับมาตรการได้ ณ สาขาของ SME D Bank ทั่วประเทศ รวมถึง เพื่อความสะดวก และลดความเสี่ยงจากการเดินทาง  แจ้งผ่านทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชม. ผ่านช่องทาง เช่น สแกน QR Code ในใบแจ้งหนี้ , แอปพลิเคชัน “SME D Bank” ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android , LINE Official Account: SME Development Bank และเว็บไซต์  www.smebank.co.th  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  Call Center 1357

นอกจากนั้น  SME D Bank ร่วมกับสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปล่อยกู้ผ่านสินเชื่อ “SMEs One” อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี วงเงินยื่นกู้ บุคคลธรรมดา สูงสุด 5 แสนบาท นิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)  สูงสุด 3 ล้านบาท เปิดแจ้งความประสงค์ผ่าน 5 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ 1.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2.สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3.สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย  4.สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ 5.สภาเกษตรกรแห่งชาติ 

ขณะเดียวกัน SME D Bank ช่วยผู้ประกอบการเติบโตยั่งยืน สามารถปรับตัวสู่ยุค New Normal โดยเปิดบริการต่าง ๆ ให้ใช้งานฟรี  เช่น เปิดช่องทางขายสินค้าในตลาดนัดออนไลน์ ด้วยเฟซบุ๊กกรุ๊ป “ฝากร้านฟรี SME D Bank” และส่งเสริมลูกค้านำสินค้าขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง เช่น Shopee , LAZADA , Thailandpostmart , Alibaba , LINE , JD Central เป็นต้น

gallery-0