thumbnail
-
30 มิ.ย. 2564ธ.ก.ส. ออกมาตรการสินเชื่อหนุนผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ผ่านสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือค่าลงทุนในการประกอบธุรกิจ วงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 – 2 ร้อยละ 4 ต่อปี ปีที่ 3 – 10 อัตรา MRR-1 / MLR / MOR ตามประเภทของลูกค้า และมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแทนผู้กู้ในช่วง 6 เดือนแรก กำหนดชำระคืนภายใน 5 ปี สนใจติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ
-
29 มิ.ย. 2564โครงการเราชนะจะสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เน้นย้ำว่า โครงการเราชนะซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ยังมีวงเงินสิทธิ์คงเหลืออยู่ ใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้แถลงเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเราชนะ ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2564 มีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์แล้ว รวมทั้งสิ้น 272,805 ล้านบาท สามารถแยกได้ ดังนี้ 1) ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 101,206 ล้านบาท 2) ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง กลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 17.1 ล้านคน และมีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 150,840 ล้านบาท และ 3) ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 2.4 ล้านคน มียอดใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา จำนวน 20,759 ล้านบาท ทั้งนี้ มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการเราชนะที่ใช้จ่ายจนครบวงเงินสิทธิ์แล้ว จำนวน 26.2 ล้านคน จากจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด 33.2 ล้านคน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3533 3566 3579 และ 3595 (เฉพาะวันและเวลาราชการ) Call Center ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2111 1122 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
-
29 มิ.ย. 2564ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขยายระยะเวลา ความช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่อยู่ใน 7 มาตรการ และยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ออกไปอีก นานสูงสุด 7 เดือน หรือจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 อาทิ แบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดต้น ตัดดอก) ขยายระยะเวลาลดเงินงวดผ่อนชำระ และพักชำระหนี้ พักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน เป็นต้น เริ่มเปิดลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วม 6 มาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ได้ตั้งแต่วันที่ 1-29 กรกฎาคม 2564 ส่วนมาตรการที่ 12 ลงทะเบียนได้ที่ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2564
-
29 มิ.ย. 2564SME D Bank เผยแนวทางหนุนเอสเอ็มอีก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 มุ่งด้านการเงินควบคู่ความรู้ ผ่านมาตรการ “พัก”- “เติม” –“ เสริมแกร่ง” ระบุเตรียมวงเงินปล่อยกู้กว่า 75,000 ล้านบาท พร้อมเติมทุนเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีต่อเนื่อง รับรองนโยบายเปิดประเทศ ฟื้นฟูธุรกิจในช่วงปลายปี
-
29 มิ.ย. 2564ธ.ก.ส. พร้อมเปิด 2 สินเชื่อใหม่ วงเงินรวม 90,000 ล้านบาท หนุนการสร้างอาชีพฝ่าวิกฤต COVID -19 ให้คนในชุมชนเมืองและภาคชนบท ผ่านโครงการสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ รายละไม่เกิน 100,000 บาท และการใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรให้กับ Smart Farmer ในโครงการสินเชื่อนวัตกรรมดี มีเงินทุน อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี แจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อได้ทาง LINE Official : BAAC Family และที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา ตั้งแต่ 1 ก.ค. นี้ เป็นต้นไป
-
2 มิ.ย. 2564นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ที่เริ่มกลับมาแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 และจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ความรุนแรงของการแพร่ระบาดก็ยังไม่บรรเทาเบาบางลง รวมทั้งยังได้มีการแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ การจ้างงาน และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยในวงกว้าง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อ พิโกไฟแนนซ์) จึงได้ออกหนังสือขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ให้กับลูกหนี้ตามความเหมาะสมและตามสมควรที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์แต่ละรายจะสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ของตนเองได้ โดยการ (1) ลดค่างวดหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ (2) เปลี่ยนประเภทหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะยาว (3) พักชำระค่างวดหรือพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน หรือพักเงินหรือพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย หรือวิธีการอื่นใดที่จะสามารถช่วยบรรเทาภาระหนี้กับลูกหนี้ได้ นอกจากนี้ ยังได้ขยายระยะเวลาการส่งรายงานงบการเงินสำหรับรอบปีบัญชี พ.ศ. 2563 ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ สศค. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เป็นลูกหนี้ของกลุ่มธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งจะช่วยทำให้ประชาชน คนไทยผ่านพ้นสถานการณ์ COVID-19 ในครั้งนี้ไปด้วยกัน ดังเช่นเมื่อครั้งที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระลอกแรกเมื่อปี 2563 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. สายด่วน 1359
-
31 พ.ค. 2564“ธนาคารกรุงไทย” ออก 5 มาตรการ เร่งช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งเป้าความช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อบุคคลและธุรกิจรวม 9 หมื่นล้านบาท แยกเป็นมาตรการสินเชื่อรายย่อย 3 มาตรการ จัดเต็มลดค่างวด พักชำระเงินต้น หรือ พักชำระเงินต้นและชำระดอกเบี้ยบางส่วน คาดการณ์ช่วยลูกค้าสินเชื่อบุคคลรวม 6 หมื่นล้านบาท และมาตรการสำหรับลูกค้าธุรกิจ ทั้งสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ประมาณการความช่วยเหลือรวม 2 มาตรการ กว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อลดภาระทางการเงิน เสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี รักษาการจ้างงาน ประคองธุรกิจต่อไปได้ นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยเพิ่มเติม 3 มาตรการ โดยคาดการณ์ช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อบุคคล 6 หมื่นล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงและขยายวงกว้างในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งมาตรการดังกล่าวสำหรับลูกค้าสินเชื่อบุคคลที่มีสถานการณ์ชำระหนี้เป็นปกติ หรือ ไม่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 90 วัน ประกอบด้วย 1. สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ Home for Cash สินเชื่อกรุงไทยบ้านให้เงิน (Home Easy Cash) วงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) พักชำระเงินต้นและชำระดอกเบี้ยบางส่วน สูงสุด 12 เดือน หรือ ขยายระยะเวลาโดยลดอัตราผ่อนชำระ สูงสุด 12 เดือน หรือ พักชำระเงินต้น โดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 3 เดือน 2. สินเชื่อส่วนบุคคล วงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ลดการผ่อนชำระค่างวดลง 30% นานสูงสุด 6 เดือน 3. สินเชื่อวงเงินกู้แบบหมุนเวียน (Revolving Loan) ได้แก่ สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ 5 Plus ปรับเป็นวงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ได้นาน 48 งวด หรือตามความสามารถในการชำระหนี้ นอกจากนี้ ธนาคารได้ออกมาตรการฟื้นฟูธุรกิจ 2 มาตรการ ประมาณการความช่วยเหลือรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท ดังนี้ 1. มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5% ต่อปี) ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รวมทั้งได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นานสูงสุด 10 ปี เปิดกว้างให้ลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ลูกค้าเดิมที่มีวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ขอกู้ได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิมที่มีอยู่กับธนาคาร สูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท ลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารและสถาบันการเงินอื่น ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ขอกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท (นับรวมวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินทุกแห่ง) 2. มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันให้สามารถลดภาระทางการเงินชั่วคราว ในช่วงที่รอให้ธุรกิจฟื้นตัว ด้วยวิธีการโอนทรัพย์ชําระหนี้และได้รับสิทธิซื้อทรัพย์คืนในอนาคต ในราคาต้นทุนรับโอนบวกค่าธรรมเนียม Carrying Cost 1 % และบวกค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์ที่ธนาคารจ่ายตามจริง หักค่าเช่าที่ลูกค้าชำระมาแล้ว มาตรการนี้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีค่าธรรมเนียมทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการรับโอนและการโอนคืนกลับให้ลูกค้า สําหรับลูกค้าที่มีความประสงค์โอนทรัพย์สินเพื่อชําระหนี้ ต้องมียอดสินเชื่อธุรกิจคงเหลือกับธนาคาร ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และ ไม่เป็น NPL ณ 31 ธันวาคม 2562 รวมทั้งทรัพย์สินที่โอนต้องเป็นหลักประกันกับธนาคารก่อน 1 มีนาคม 2564 “ธนาคารเร่งช่วยเหลือลูกค้าในเชิงรุกทุกช่องทาง ผ่านเครือข่ายสาขาที่มีความใกล้ชิดกับลูกค้า ทำให้รู้ว่าแต่ละรายต้องการความช่วยเหลือด้านใด นอกจาก 5 มาตรการ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ด้วยการเสริมสภาพคล่องให้คู่ค้าและพันธมิตรของลูกค้า โดยออกมาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าของสยามพิวรรธน์ และเดอะมอลล์ กรุ๊ป เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SME และพันธมิตรทุกกลุ่มสามารถประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ธนาคารให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้น 31 มี.ค. 64 มีสินเชื่อที่ธนาคารให้ความช่วยเหลือตามมาตรการธนาคารแห่งประเทศไทยกว่า 1.3 แสนล้านบาท โดยเป็นลูกค้าบุคคลกว่า 3 หมื่นล้านบาท ลูกค้าธุรกิจและ SME กว่า 9 หมื่นล้านบาท” สำหรับลูกค้าบุคคลที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้จนถึง 31 ธันวาคม 2564 ผ่านเว็บไซต์ https://krungthai.com/link/retail-covid19 และลูกค้าธุรกิจที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ศึกษารายละเอียดได้ที่ https://krungthai.com/link/business-covid19 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา สำนักงานธุรกิจทั่วประเทศ หรือ Krungthai Contact Center 02-111-1111
-
18 พ.ค. 2564นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการมาตรการภาษีอากรสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยการยกเว้นภาษีอากรและการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับการดำเนินมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ๒๕๖๔ ทั้งนี้ มาตรการภาษีข้างต้นช่วยลดภาระภาษีอากรที่เกิดจากการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจฯ ของสถาบันการเงินผู้ให้กู้ ผู้กู้ ที่ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่สามารถโอนทรัพย์สินชำระหนี้แก่สถาบันการเงินโดยมีเงื่อนไขซื้อคืนในราคาที่โอนไปและมีสิทธิเช่าทรัพย์นั้นกลับไปใช้ประกอบธุรกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้” นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้(มาตรการภาษีอากรสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อลดภาระภาษีอากรที่เกิดจากการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้ ๑. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ๑.๑ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน อันเนื่องมาจากมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจฯ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ๑.๒ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินและสถาบันการเงิน สำหรับการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า และการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจฯ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ๒. กฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ โดยกำหนดให้การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนของหนี้ที่สถาบันการเงินได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ อันเนื่องมาจากมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจฯ กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ” นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า “นอกจากมาตรการภาษีอากรสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรมีมาตรการทางภาษีอากรเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยเร่งให้การปรับโครงสร้างหนี้ของผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น ช่วยให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น สามารถฟื้นฟูฐานะและกิจการแล้วประกอบอาชีพและธุรกิจต่อไปได้ ส่วนทางด้านเจ้าหนี้และระบบสถาบันการเงินในภาพรวมจะมีต้นทุนลดลงและสามารถให้สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่างๆ เพิ่มเติมได้” ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. ๑๑๖๑
-
18 พ.ค. 2564นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้รับข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยเฉพาะกรณีที่เข้ารับการตรวจและรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลของเอกชน กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม จึงได้ร่วมบูรณาการเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประชาชนกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่จำเป็นและเหมาะสม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งในสถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลของเอกชน และได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง สิทธิผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทราบถึงสิทธิที่พึงได้รับตามกฎหมาย
-
17 พ.ค. 2564ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศเพิ่มอีก 2 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ด้วย “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” ประกอบด้วย มาตรการที่ 11 New Entry เลือกจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2564) สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของธนาคารมาก่อน มีสถานะบัญชีปกติ และไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน Application : GHB ALL ตั้งแต่วันที่ 17-29 พฤษภาคม 2564 และขยายความช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่อยู่ในมาตรการที่ 12 เลือกจ่ายเงินงวดผ่อนชำระหรือพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลตขยายความช่วยเหลือถึงเดือนตุลาคม 2564 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการแบ่งเบาภาระให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ คณะกรรมการธนาคาร โดยนายยุทธนา หยิมการุณ ประธานกรรมการธนาคาร จึงมอบหมายให้ธนาคารเร่งช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ รายย่อย ระยะที่ 3 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการยกระดับมาตรการให้รองรับสถานการณ์ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้น และสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสม ด้วยการจัดทำเพิ่มอีก 2 มาตรการความช่วยเหลือผ่าน “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” โดยมีรายละเอียด ประกอบด้วย มาตรการที่ 11 New Entry : เลือกจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน ระยะแรกเป็นระยะเวลา 3 เดือน (1 พฤษภาคม- 31 กรกฎาคม 2564) สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของธนาคารมาก่อน มีสถานะบัญชีปกติ และไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ เปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการผ่าน Application : GHB ALL ตั้งแต่วันที่ 17 - 29 พฤษภาคม 2564 โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของ COVID-19 พร้อมกับ Upload หลักฐานยืนยันว่าได้รับผลกระทบทางรายได้ผ่านทาง Application : GHB ALL ให้ธนาคารพิจารณา เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย หรือ Statement เป็นต้น หรือกรณีไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ www.ghbank.co.th ทั้งนี้ สำหรับลูกค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการที่ 11 New Entry เรียบร้อยแล้ว เมื่อครบระยะเวลาความช่วยเหลือตามมาตรการ จะสามารถทยอยผ่อนชำระดอกเบี้ยประจำงวดที่ตัดชำระไม่หมดในขณะที่เข้าร่วมมาตรการได้จนถึงวันก่อนที่ลูกค้าจะครบกำหนดตามสัญญาเงินกู้ หรือก่อนปิดบัญชีเงินกู้ต่อไป มาตรการที่ 12 : เลือกจ่ายเงินงวดผ่อนชำระหรือพักชำระหนี้ ในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต ขยายความช่วยเหลือสำหรับลูกค้าเดิมที่อยู่ในมาตรการ 12 ในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต แบ่งเป็น (1) เลือกจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลาไม่เกินเดือนตุลาคม 2564 หรือ (2) พักชำระหนี้ถึงเดือนตุลาคม 2564 ในกรณีที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้ ยื่นคำขอเข้ามาตรการได้ที่สาขาทั่วประเทศโดยกลุ่มลูกค้าที่อยู่ระหว่างการรับความช่วยเหลือในมาตรการที่ 12 และจะครบกำหนดระยะเวลาความช่วยเหลือในเดือนพฤษภาคม 2564 สามารถยื่นคำขอเข้ามาตรการประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2564 ส่วนลูกค้าที่จะครบกำหนดระยะเวลาความช่วยเหลือตามมาตรการในเดือนมิถุนายน 2564 แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 1-31 กรกฎาคม 2564 สำหรับลูกค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการที่ 12 เรียบร้อยแล้ว เมื่อครบระยะเวลาความช่วยเหลือตามมาตรการ จะสามารถทยอยผ่อนชำระหนี้ที่พักไว้ทั้งหมดภายใน 36 เดือน โดยเริ่มผ่อนชำระดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 สอบถามรายละเอียดหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ www.ghbank.co.th ฝ่ายสื่อสารองค์กร 14 พฤษภาคม 2564